บทความที่เป็นประโยชน์

สะพานมิตรภาพไทย ลาว แห่งใหม่ อำนวยความสะดวกทางการค้า เชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจ บรรลุเป้าหมาย 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568

31 ตุลาคม 2566

วันที่ 9 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขึ้นรถไฟขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ
ขบวนพิเศษที่ 931 จากสถานีรถไฟอุดรธานี ปลายทางสถานีรถไฟหนองคาย โดยในขบวนมีคณะรัฐมนตรี ภาคเอกชนอุดรธานี ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมโดยสารไปด้วย ระหว่างทางได้พูดคุยกันในประเด็น เรื่องการขนส่งสินค้าจากไทยไปจีน ซึ่งภาคเอกชนจังหวัดอุดรธานี ได้ขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว เพราะจะทำให้ระบบโลจิสติกส์ มีความสะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งรองรับการเป็นเจ้าภาพโครงการพืชสวนโลก ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนจากต่างประเทศ
เข้ามาลงทุนในพื้นที่มากขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปที่ตลาดร่มเขียว ตลาดพืชผลทางการเกษตรปลอดภัย จ.อุดรธานี  และได้พูดคุยกับเกษตรกร และประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอย โดยมีการพูดคุยถึงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เดิม ว่า สะพานสามารถรับการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศทางรถยนต์และรถไฟได้ แต่การคมนาคมทั้งสองรูปแบบไม่สามารถใช้งานได้ในเวลาเดียวกัน ต้องสลับกัน ก่อให้เกิดความล่าช้า จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคาย-เวียงจันทน์ แห่งใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ให้สอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางรางในเส้นทางรถไฟ

โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ทางกรมได้เดินทางไปยัง สปป.ลาว เพื่อศึกษาเส้นทางขนส่งสินค้าไทย โดยใช้รถไฟความเร็วสูง จีน-ลาว โดยได้หารือกับผู้บริหารโครงการท่าบก ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ พบว่า เส้นทางรถไฟดังกล่าว เป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าไปทำตลาดในจีน เพราะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งอย่างมาก เหลือเพียงไม่เกิน 15 ชั่วโมง จากการขนส่งทางบก 2 วัน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทั้งกรอบอาเซียน-จีน และหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) ส่งออกผลไม้ไปจีน “นับตั้งแต่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการเมื่อเดือน ธ.ค.64 ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนได้เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะส่งออกผ่านด่านหนองคายอยู่ที่ 90.41 ล้านบาทในปี 2564 เพิ่มเป็น 1,964.89 ล้านบาท ในปี 2565”

โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีน ผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวมากที่สุด ในช่วง (ม.ค.- พ.ค. 2566 )  มีดังนี้

1.ทุเรียนสด มูลค่า 2,073.18 ล้านบาท เทียบช่วงกันของปี 65 ที่ 446 ล้านบาท

2.มังคุดสด 378.65 ล้านบาท เทียบกับช่วงกันของปี 65 ที่ 52 ล้านบาท

3.หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 315.21 ล้านบาท

4.ลำไยสด 37.40 ล้านบาท

5.สินค้าแร่ และเชื้อเพลิงอื่นๆ 17.89 ล้านบาท

6.สับปะรดแปรรูป 11.43 ล้านบาท

7.ส้มโอสด 2.99 ล้านบาท

8.สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 2.72 ล้านบาท

9.มะม่วงสด 1.79 ล้านบาท

10.ผลไม้อื่นๆ 1.52 ล้านบาท.

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ และการหารือเต็มคณะระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ โดยทางด้านการค้า นายกรัฐมนตรีพร้อมสนับสนุนการเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจระหว่าง สปป.ลาว กับภาคอีสานของไทย ให้เป็น Growth Area
ที่เกื้อกูลกัน พร้อมเห็นควรร่วมกันหาแนวทางลดอุปสรรคและเร่งอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าที่ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้านความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล สปป.ลาว ที่ต้องการเปลี่ยนประเทศจาก Land-locked เป็น Land-linked และพร้อมสานต่อการทำงานร่วมกับฝ่าย สปป.ลาว ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านคมนาคมขนส่งระหว่าง
2 ประเทศ

ในส่วนความเชื่อมโยงทางระบบราง นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายเร่งรัดการหารือรายละเอียดเพื่อเริ่มก่อสร้างสะพานสำหรับรถไฟข้ามแม่น้ำโขง (หนองคาย-เวียงจันทน์) โดยไทยพร้อมสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ  นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายเร่งรัดการจัดทำกรอบความตกลง (Technical Arrangement) เพื่อเริ่มเดินรถไฟระหว่างสถานีท่านาแล้งมาถึงสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด)
ได้ในต้นปีหน้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างกัน

สำหรับความเชื่อมโยงทางถนนและสะพาน นายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่หลายโครงการมีความคืบหน้า ทั้งโครงการสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ซึ่งก่อสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์ โครงการสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องในหลักการแล้ว รวมถึงโครงการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 12 (นครพนม/ท่าแขก แขวงคำม่วน-นาเพ้า แขวงบอลิคำไซ/จาลอ จังหวัดกว่างบิงห์ เวียดนาม)
เพื่อช่วยส่งเสริมการขนส่งระหว่างไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม-จีน ให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตามแนวเส้นทางนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การขนส่งและโลจิสติกส์ในด้านรางนั้น ขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมพิจารณาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่ง
ทั้งนี้ ฝ่ายลาวรับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาร่วมกัน โดยขอให้มีการกำหนดอัตราค่าบริการ (Handling Charge) ที่ชัดเจน และแน่นอนในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่เวียงจันทน์
(Vientiane Logistic Park-VLP)

เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนได้ล่วงหน้า การค้าขายทางระบบรางจะเพิ่มขึ้น ในด้านถนน
นายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายลาวพิจารณาให้รถบรรทุกหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ของไทยขนส่งสินค้าเข้าไปใน สปป.ลาวได้เหมือนช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ด้านพิธีการศุลกากร นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายเร่งรัดการจัดตั้ง Common Control Area (CCA)
ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการทั้ง
2 ฝ่าย

สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้ง 2 ฝ่ายให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และเห็นพ้องเร่งรัด
การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ระหว่าง 3 ประเทศ (ไทย สปป.ลาว และเมียนมา) ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

ทั้งนี้ ไทยมีแผนสนับสนุน สปป.ลาว ในการจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟป่า (Fire Risk Map)
และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานของทั้ง 2 ฝ่ายจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

นายกรัฐมนตรีสนใจซื้อพลังงานสะอาดจากลาวเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ขยายตัว

หลังจากเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามเอกสารสำคัญ และส่งมอบโครงการต่าง ๆ ดังนี้

1.พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม
กับกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว

2.พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือสำหรับการให้ความร่วมมือทางวิชาการในรูปแบบการเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับการฝึกพนักงานขับรถไฟและพนักงานจำหน่ายตั๋ว และการจัดทำแผนธุรกิจให้กับรถไฟแห่งชาติลาว (Record of Discussions between NEDA and Lao National Railway for the Technical Assistance for the Capacity Building for Locomotive Driving and Ticketing System and Development of a Business Model for the Lao National Railway)

3.พิธีส่งมอบสวนรุกขชาติมิตรภาพเพื่อฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต
ราชอาณาจักรไทย-สปป.ลาว

4.พิธีส่งมอบศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่โรงเรียนเทคนิควิชาชีพแบบผสม แขวงอัตตะปือ

 

ที่มาแหล่งข้อมูล : BTL

---------------------------
https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/952251/952251.pdf&title=952251&te=755&d=0

https://www.thaipbs.or.th/news/content/331468

 

ติดต่อสอบถามบริการ BTL 

02-681-2005ถึง9 

www.bkkterminal.com 

m.me/BangkokTerminalLogistics 

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ