บทความที่เป็นประโยชน์

ทุเรียนต้นฤดู ราคาพุ่ง ฝ่าเกมพ่อค้า ดันส่งออกจีน

11 เมษายน 2567

รายงานผลการสำรวจราคาทุเรียนต้นฤดูในภาคตะวันออกพบว่า ผลผลิตทุเรียนที่ออกมาขณะนี้ ส่วนใหญ่ราคาอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เช่น จ.ตราด ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-ต้นมีนาคม ทุเรียนพันธุ์กระดุม เปิดราคาที่ประมาณกิโลกรัมละ 320-350 บาท หมอนทอง 270-280 บาท ถัดมาช่วงกลางเดือนมีนาคม ทุเรียนรุ่นแรกของจันทบุรี และระยอง เริ่มออกสู่ตลาด และยังมีปริมาณไม่มากนัก แม้ราคาจะปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ส่วนหนึ่งเนื่องจากโรงคัดบรรจุ หรือ ล้ง มีการแย่งกันซื้อเพื่อนำทุเรียนไปเปิดตลาด และถัดมาในช่วงปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน ที่ใกล้เทศกาลเช็งเม้ง จากดีมานด์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหมอนทองเป็นที่นิยมของตลาด ราคาทุเรียนที่ตลาดเนินสูง จ.จันทบุรี เกรด ABC ราคากิโลกรัมละ 260-270 บาท AB กิโลกรัมละ 275-290 บาท อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวการตรวจจับทุเรียนอ่อนได้กว่า 4 ตัน ที่ล้งแห่งหนึ่งใน จ.จันทบุรี เมื่อช่วงวันที่ 27 มีนาคม 2567 ทำให้แผงหยุดซื้อ ราคาตกลงไป 5-10 บาท ภายใน 2-3 วัน เกรด ABC ราคา 250-265 บาท AB 270-280 บาท และราคาค่อนข้างตกตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม เป็นต้นมา ราคาลดลงต่อเนื่อง จากเกรด ABC ราคา 230-250 บาท AB 260-265 บาท วันที่ 1 เมษายน เกรด ABC ราคา 220-245 บาท AB 240-250 บาท วันที่ 2 เมษายน เกรด ABC ราคา 230 บาท AB 230-240 บาท ทำให้ชาวสวนชะลอการตัดทุเรียน เพื่อรอราคาปรับขึ้น คาดว่าหลังวันที่ 10-15 เมษายน 2567 ราคาจะเริ่มขยับลงอีก และจะปรับตัวลงมากในช่วงเดือนพฤษภาคม เนื่องจากมีทุเรียนออกสู่ตลาดปริมาณมาก และคาดว่าราคาน่าจะยังสูงอยู่เฉลี่ยกิโลกรัมละประมาณ 130-140 บาท

ล้งชะลอการซื้อรอดูตลาด

นายกมล เรืองขจร ผู้จัดการฝ่ายบริหาร บริษัท เอะลิส กรุ๊ป เปิดเผยว่า ราคาทุเรียนภาคตะวันออก รุ่น 1 ที่ออกปลายเดือนมีนาคม-5 เมษายน ที่จะส่งไปเทศกาลเช็งเม้ง ตลาดจีนมีความต้องการสูง ประกอบกับปริมาณทุเรียนยังออกน้อย และล้งแย่งกันซื้อ ส่งผลให้ราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้น เช่น หมอนทอง AB ราคาพุ่งไปถึง 270 บาท แต่พอมีปัญหาตรวจพบทุเรียนอ่อนที่ล้งใน อ.นายายอาม (จันทบุรี) ทำให้ราคาทุเรียนปรับลง กก.ละ
5-10 บาท และล้งหยุดการรับซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์ “การตรวจพบทุเรียนอ่อน ส่งผลให้ราคาทุเรียนปรับตัวลดลง แต่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะที่ผ่านมาก็มีทุเรียนอ่อนหลุดไปตลาดจีนมาก่อนหน้านี้ ทำให้ตลาดขายไม่ดี โดยทุเรียนรุ่น 1 ที่ออกในช่วงปลายมีนาคม-5 เมษายน ซึ่งมีปริมาณน้อย พ่อค้าแย่งกันซื้อหรือเหมา ทำให้ราคาสูงเกินไป ราคา AB กิโลกรัมละ 260-280 บาท ขณะที่ล้งต้องเร่งตัด จึงทำให้มีทุเรียนอ่อนที่ตัดติดไปด้วย เมื่อล้งขาดทุนจึงต้องปรับราคารับซื้อลงมา หรือปิดแผง หยุดหรือชะลอรับซื้อออกไป เพื่อรอดูสถานการณ์และรอให้ทุเรียนออกสู่ตลาดมากขึ้น”  นายกมลกล่าวว่า ราคาทุเรียนที่สูงตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมนี้ น่าจะยืนไปถึงวันที่
5 เมษายน ที่ล้งจะต้องปิดตู้ส่งออกไปให้ทันเทศกาลเช็งเม้ง วันที่ 10 เมษายน หลังจากนั้นราคาน่าจะปรับลดลง และช่วงที่ทุเรียนออกมาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ราคาน่าจะลดลงมาต่ำสุด แต่ไม่น่าจะต่ำกว่าราคาปีที่แล้ว หรือประมาณกิโลกรัมละ 130 บาท ปีนี้อาจจะอยู่ที่ประมาณ 140 บาท แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณทุเรียนในตลาด

ขณะที่นายโกศล ปุญญปัญญา เจ้าของล้ง “โกศล (ตู่)” อ.เขาสมิง จ.ตราด แสดงความเห็นว่า การตรวจพบทุเรียนอ่อนจำนวน 4 ตัน ไม่น่าจะมีผลต่อการปรับราคาซื้อทุเรียน ราคาที่ปรับลงน่าจะเป็นเพราะ 2 เหตุผล คือ การตั้งราคารับซื้อที่สูงเกินไป หมอนทอง เกรด AB สูงถึง 280 บาท เมื่อไปถึงปลายทาง เนื่องจากจีนเศรษฐกิจยังไม่ดีนัก ทุเรียนแพงก็จะขายไม่ได้ ประกอบกับมีทุเรียนจากเวียดนามที่ส่งออกวันละ 40-50 ตู้ และราคาถูกกว่า และทุเรียนเริ่มออกสู่ตลาดมากขึ้น

ต้นฤดูราคาพุ่งสูงเกินจริง

นายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เปิดเผยว่า ตั้งแต่ 31 มีนาคม-2 เม.ย. ราคาทุเรียนปรับตัวลดลงมากถึงกิโลกรัมละ 30-40 บาท หมอนทอง AB จาก 270-290 บาท ลดลงเหลือ
230-235 บาท

สาเหตุหลัก ๆ มาจาก

1.พ่อค้าที่รับซื้อทุเรียนรุ่นแรก ต้นฤดูไปราคาสูงมาก โดยเฉพาะกระดุม กิโลกรัมละ 300-320 บาท ทำให้ขาดทุนอย่างหนัก เพราะตลาดปลายทางจีนเศรษฐกิจยังไม่ดี กำลังซื้อน้อย ทุเรียนราคาแพงเกินไปขายไม่ได้

2.พ่อค้าจีนรายใหม่ที่เข้ามารับซื้อคัดทุเรียนไม่เป็น และแข่งขันกันซื้อจากชาวสวนในราคาสูงมาก และเป็นแบบเหมาเกรด ABC ทำให้มีทุเรียนอ่อนติดไป และขายไม่ได้

3.การที่มีทุเรียนกระดุมออกมามาก และราคาลง ทำให้ราคาหมอนทองต้องปรับลดลงด้วย และยังมีทุเรียนเวียดนามเข้าสู่ตลาดด้วย

ตอนนี้ หมอนทอง เริ่มออกมามากขึ้น กระดุมราคาลง เกรด AB จาก 220-225 บาท เหลือ 170-180 บาท หมอนทอง ราคาหน้าล้งลง 230-235 บาท แต่ล้งสู้ราคาไม่ไหว และช่วงที่อากาศร้อนแล้งชาวสวนให้น้ำมากเกินไป เวลาขนส่งไปปลายทางจีน น้ำหนักทุเรียนจะหายไปตู้ละเกือบ 500 กิโลกรัม ส่งไปขาย 2 ตู้เท่ากับน้ำหนักหายไปรวม
1 ตัน หมดเงินไปแล้ว 150,000 บาท ต้องหยุดหรือชะลอการซื้อออกไป และตอนนี้มีล้งอีกจำนวนมากที่ยังไม่เปิดรับซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์ ตอนนี้เปิดเพียง 20-30 ล้ง จากล้งทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ 1,200 ล้ง

ยันทุเรียนราคาดียันปลายฤดู

นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก กล่าวในเรื่องนี้ว่า ช่วงนี้เรียกว่า “ช่วง 10-15 วันอันตราย” ก่อนจะมีประกาศวันเก็บเกี่ยวพร้อมกัน 3 จังหวัด ในวันที่ 15 เมษายน 2566 ช่วงนี้เป็นต้นฤดู ทุกปีความต้องการส่งออกและราคารับซื้อสูงมาก จึงทำให้มีทุเรียนอ่อนติดออกไป ดังนั้นจึงต้องช่วยกันควบคุมดูแล หากไม่มีทุเรียนอ่อนหลุดไปตลาดต่างประเทศ ราคาไม่ตกแน่นอน ตลอดฤดูกาลราคาอาจจะมีการขยับขึ้นด้วยซ้ำ ถ้าดูปริมาณความต้องการของผู้ซื้อ

“ที่ผ่านมาได้รับการแจ้งข้อมูลจากเครือข่ายผู้ปลูกทุเรียนว่า มีการตัดทุเรียนอ่อนในพื้นที่ภาคตะวันออกแล้วขนลงไปบรรจุในล้งในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจของเจ้าหน้าที่ทีมเล็บเหยี่ยว สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จ.จันทบุรี (สวพ.6) เรื่องนี้ได้ประสานหัวหน้าด่านตรวจพืชที่ภาคใต้ให้ช่วยตรวจสอบแล้ว”
นายชลธีกล่าว


ที่มาแหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ

--------------------------

https://www.prachachat.net/local-economy/news-1535180

ติดต่อสอบถามบริการ BTL

02-681-2005ถึง9

www.bkkterminal.com

m.me/BangkokTerminalLogistics

 

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ