มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV3.0)
18 กรกฎาคม 2567
มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV3.0) 14 ค่ายรถ EV นำเข้า 1.8 แสนคัน หวั่นผลิตชดเชยล้นสต๊อก แนะเร่งส่งออก
รัฐบาลประกาศมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก (EV3.0) ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2565 ส่งผลกระตุ้นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเต็มที่ และทำให้ยอดจดทะเบียนรถใหม่เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงปี 2565-2566 โดยมาตรการดังกล่าวจะอุดหนุนเงินซื้อ EV ครอบคลุมทั้งรถยนต์ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ ลดราคา 70,000-150,000 บาทต่อคัน เป็นการอุดหนุนผ่านค่ายรถ โดยมีเงื่อนไขสำคัญกำหนดให้ต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอัตราส่วน 1:1 ทำให้การนำเข้ารถ 1 คัน ต้องผลิตชดเชย 1 คัน
กรมสรรพสามิตได้ประมาณการยอดผลิตชดเชย/ผลิตในประเทศตามมาตรการสนับสนุน EV3.0 มีค่ายรถเข้าร่วมทั้งหมด 14 บริษัท แบ่งเป็น การนำเข้าปี 2565-2566 รวม 84,195 คัน นำเข้าปี 2567 รวม 66,448 คัน นำเข้าปี 2568 รวม 34,386 คัน รวมมีการนำเข้าทั้งหมด 185,029 คัน
ประมาณการนำเข้าในปี 2565-2568 ค่ายรถ 5 อันดับแรก ได้แก่
1.บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (BYD) = 77,274 คัน
2. บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด = 40,837 คัน
3.บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพี จำกัด = 27,186 คัน
4.บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด = 24,225 คัน
5.บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด (แบรนด์วู่หลิง และ Volt) = 8,493 คัน
ค่ายรถที่ต้องเริ่มผลิตชดเชยในปี 2567 ได้แก่ (พิจารณาเฉพาะการนำเข้าปี 2565-2566 ที่ครบกำหนด)
1.บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (BYD) = 38,637 คัน
2.บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด = 16,337 คัน
3.บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ ซีพี จำกัด = 16,191 คัน
4.บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด = 9,645 คัน
5.บริษัท อีวี ไพรมัส จำกัด (แบรนด์วู่หลิง และ Volt) = 1,597 คัน
รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิต ระบุว่า ตามมาตรการ EV 3.0 กรมสรรพสามิตจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ประกอบการไปแล้ว 40,000 คัน และยังมีผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับการชดเชยอีก 35,000 คัน ซึ่งกรมสรรพสามิตเตรียมเสนอของบประมาณ 7,000 ล้านบาท ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้
สำหรับในปี 2567 ที่ค่ายรถ EV จะเริ่มเดินสายการผลิตชดเชยในอัตรา 1 ต่อ 1 และในปี 2568 อัตรา 1 ต่อ 1.5 คาดว่าจะมีการผลิตรถ EV ในประเทศถึง 100,000 คัน ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะต้องวางแผนการผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าในประเทศทั้งหมด ภายในปี 2568 หากทำไม่ได้ตามสัญญาจะมีโทษปรับเรียกคืนเงินอุดหนุนทั้งหมด และต้องจ่ายเบี้ยปรับ 2 เท่าของเงินคืนภาษี
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปี 2567 จะเป็นปีแรกที่ค่ายรถอีวีที่เซ็นสัญญาจะเริ่มเปิดโรงงานเพื่อผลิตชดเชย ซึ่งคาดว่าจะมียอดการผลิตรถอีวีในประเทศปีนี้ 8-9 หมื่นคัน และจะเริ่มเป็นปีแรกที่ไทยสามารถส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศได้ และเป็นการสะท้อนการเป็นฐานผลิตรถยนต์ของไทยเช่นเดียวกับที่เคยผลิตรถยนต์สันดาป
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า หากค่ายรถจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการ EV3.0 ระดับ 1.8 แสนคัน ในปี 2568 ต้องยอมรับว่าปัจจุบันกำลังซื้อยังก็ไม่ดี ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องหาตลาดส่งออกมารองรับ เพราะด้วยขนาดของตลาดที่รองรับจะอยู่ที่ประมาณ 6 แสนกว่าคัน จึงคิดว่าดีมานด์อาจจะไม่พอ รวมทั้งหากรวมค่ายรถยนต์อีวีทั้ง 7 ราย และรวมคาร์ปาซิตี้ทั้งหมดก็จะอยู่ที่ระดับ 4.9 แสนคัน แต่ถ้าต้องผลิตเต็มกำลังก็จะเกิน 60% ของดีมานด์ตลาดในประเทศไทยแล้ว คงต้องหาตลาดส่งออกช่วย ย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เอง หากจะต้องเร่งผลิตตามเป้านโยบายผลิตคืนในสัดส่วน 1:1 ถึงแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะยังไม่ได้เอื้ออำนวยสักเท่าไร แต่ก็จะยังคงสัดส่วนให้ได้ก่อน หรืออาจะไม่ใช่กับทุกค่าย โดยบางค่ายอาจจะใช้วิธีการนำเข้ามาก่อน และเมื่อต้องขึ้นไลน์ผลิตก็จะต้องเคลียร์สต๊อกของเดิมออกไปก่อน และหาวิธีทำการตลาดในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
นายกฤษฎา กล่าวว่า ยอมรับว่าในสถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นซัพพลายที่มาในช่วงจังหวะไม่ดี และสถาบันทางการเงินก็ค่อนข้างจะรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ด้วย แต่ไม่ใช่ว่าตลาดจะไม่มีดีมานด์ แต่อยู่ที่ข้อจำกัดของการปล่อยสินเชื่อมากกว่า ดังนั้น ในเรื่องของการต้องผลิตชดเชยยังไม่มีใครมีคำตอบแม้แต่ในวงคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ก็ตาม ซึ่งคงต้องหารือในเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เนื่องจากเพิ่งจะมีต้นเหตุของปัญหาให้ได้เห็น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าตอนนี้ซัพพลายไม่น่าจะอยู่ในระดับที่เหมาะสมในการที่จะมาเริ่มผลิตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งไปผูกกับเศรษฐกิจมหภาคของประเทศด้วยว่าในเมื่อ consumption เปลี่ยน ทั้งเรื่องของ GDP เรื่องของอัตราหนี้เสีย และหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขนาดนี้ จะทำอย่างไรกับการปล่อยสินเชื่อ เพราะทุกที่จะต้องรัดกุมเพราะความกังวลในเรื่องของหนี้เสีย แต่จะทำอย่างไรให้ขับเคลื่อนไปทั้งองคาพยพซึ่งเป็นภาพใหญ่ที่ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย นอกจากนี้ เวลาที่ค่ายรถที่ต้องผลิตลักษณะ OEM จะต้องมีการวางแผนในการผลิต อาทิ เรื่องของการแข่งขันของแต่ละโรงงาน ซึ่งมีโรงงานหลากหลายแห่ง การเลือกผลิตแต่ละที่จะอิงกับต้นทุนการผลิตของโรงงานนั้นๆ ด้วย เท่ากับว่าการลดกำลังการผลิต ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วยดังนั้น จะสูญเสียในเรื่องของต้นทุนการผลิตต่อคัน เวลาเทียบกับโรงงานอื่นก็อาจจะเสียความได้เปรียบในตรงนั้นไป ซึ่งจะมีผลต่ออนาคตเกี่ยวกับฟิวเจอร์โมเดลว่าหากไม่สามารถผลิตได้เต็มคาปาซิตี้ที่แพลนไว้ โอกาสที่จะผลิตรุ่นอื่นๆ ต่อก็คงจะยากมากขึ้นด้วย “ถือเป็นจุดที่ต้องมองในอนาคตด้วยว่า การที่จะทำให้ตลาดทั้งหมดเดินหน้าไปได้จะทำอย่างไร เพราะหากผลิตได้ก็ต้องมีตลาดทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกก็จะสามารถแพลนแผนการผลิตต่อไปได้”
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนพ.ค. มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 8,166 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 14.50% และในช่วง 5 เดือน มียานยนต์ BEV จดทะเบียนใหม่สะสมจำนวน 43,921 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.64% ขณะที่อีวีป้ายแดงประเภท HEV มีจดทะเบียนใหม่ในเดือนพ.ค. จำนวน 10,789 คัน เพิ่มขึ้น 34.64% และสะสม 5 เดือนมีทั้งสิ้น 59,317 คัน เพิ่มขึ้น 53.48% ส่วนอีวีป้ายแดงประเภท PHEV มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 704 คัน ลดลง 31.32% และยอดสะสม
ช่วง 5 เดือนมีจำนวน 4,053 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.01% ทั้งนี้ หากดูจากตัวเลข 5 เดือนแรกของการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 5,000 คัน ดังนั้น ส.อ.ท.จะยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากผู้ผลิตที่ลงนามรับสิทธิประโยชน์จากภาครัฐแบรนด์จีนราว 7 ราย ว่าจะมีความพร้อมในการผลิตได้ตามเป้าหมายหรือไม่ อย่างไร
“สิ่งสำคัญที่จะทำให้เป้ากำลังผลิตคือ แบตเตอรี่ ซัพพลายเชนต่างๆ ซึ่งในช่วงนี้อาจจะต้องมีการนำเข้า เนื่องจากที่เห็นชัดเชนมีเพียงการตั้งโรงงานของ BYD ที่ตั้งโรงงานผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น จะต้องดูผู้ผลิตรายอื่นด้วยว่าจะมีความพร้อมหรือไม่อย่างไร หากพร้อมทั้งซัพพลายเชน และตลาดรองรับก็จะสามารถผลิตได้ถึงตามเป้าหมายของสรรพสามิตได้” นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ยอดรถอีวีที่จดทะเบียนสะสมกว่า 175,316 ถือว่ามีการเติบโต 168% และขณะนี้เริ่มทยอยผลิตในประเทศไทยมากขึ้น ปีนี้ผลิตแล้วกว่า 5 พันคัน และจะเริ่มเพิ่มขึ้นในดือนอื่นๆ ต่อไป ดังนั้น ประเทศไทยจะยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายในเพื่อส่งออก รวมทั้งเป็นฐานการผลิตรถอีวีเพื่อส่งออก และจะเติบโตมากกว่าในอดีต ซึ่งปีที่แล้วส่งออกรถยนต์สันดาปภายในกว่า 1.1 ล้านคัน ปีนี้อาจจะส่งออกรถอีวีในไทยด้วย
ที่มาแหล่งข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ