บทความที่เป็นประโยชน์

พัฒนาระบบรางไทย เชื่อมต่อเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่าง EEC กับจีน

27 กันยายน 2564

ปัจจุบัน การขนส่งสินค้าระหว่าง EEC กับจีน ใช้ทางทะเลและถนนเป็นหลัก เนื่องจากทางรางยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน ด้วยเส้นทางส่วนใหญ่ ยังคงเป็นรถไฟทางเดี่ยว ในส่วนของรถไฟทางคู่อยู่ระหว่างการศึกษาและเตรียมประมูลในช่วงเส้นทางขอนแก่น-หนองคาย-เวียงจันทน์ และสรรหาเอกชนมาเดินรถช่วงแหลมฉบัง-หนองคาย คาดจะเปิดให้บริการในปี 2026 ส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง และช่วงนครราชสีมา-หนองคาย-เวียงจันทน์ กำลังอยู่ในช่วงศึกษาออกแบบ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการตลอดเส้นทางได้ในช่วงปี 2029-2032

การเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว-จีน จึงเป็นโอกาสของไทย ในการพัฒนาระบบรางฝั่งไทย เพื่อให้เชื่อมต่อไปถึงจีนได้ โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้ากับ EEC

โครงการรถไฟลาว-จีน เป็นส่วนหนึ่งของแผน Belt and Road Initiative ของจีน โดยในวันที่ 2 ธันวาคม 2021 สปป. ลาว ได้เตรียมเปิดให้บริการในฝั่งลาวเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์กับนครคุนหมิงของจีน  จะช่วยให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างลาวกับจีนและภายในลาวเอง สะดวกรวดเร็ว ต้นทุนลดลง และดึงดูดการค้าการลงทุนเพิ่มขึ้น

สินค้าส่งออกสำคัญบนเส้นทางขนส่งนี้ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเกษตรกรรม เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด

การเชื่อมต่อระบบรางระหว่าง EEC กับจีนจะก่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุนของไทยในหลายมิติ ได้แก่

  1. ช่วยลดต้นทุนการขนส่งต่อตันได้กว่า 32% ถึงมากกว่า 50% ตามรูปแบบการขนส่งในฝั่งไทย เช่น ขนส่งด้วยรถบรรทุกต้นทุนจะลดลง 32% ขณะที่รถไฟทางเดี่ยว-คู่จะลดลงมากกว่า 40% และรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นรางขนาดเดียวกันจะลดลงมากกว่า 50% นอกจากนี้ การขนส่งทางรางยังใช้เวลาเพียง 0.5-1.5 วัน ซึ่งเร็วกว่าทางถนนที่ใช้เวลา 2-3 วัน และทางทะเลที่ใช้เวลา 5-7 วัน
  2. เพิ่มทางเลือกรูปแบบการขนส่งสินค้าไปยังจีนและต่อเนื่องไปถึงยุโรปผ่านเส้นทางสายไหมใหม่จีน-ยุโรปที่กำลังขยายตัวสูงด้วยระยะเวลาขนส่งที่น้อยกว่าทางทะเลมากกว่าเท่าตัวเหลือเพียงราว 15 วัน โดยเวียดนามเริ่มให้บริการเส้นทางฮานอย-เบลเยี่ยมผ่านเส้นทางนี้แล้ว นอกจากนี้ยังช่วยกระจายความเสี่ยงด้านการแพร่ระบาดของ Covid-19 เนื่องจากความล่าช้าติดขัดในการขนส่งทางทะเล
  3. ดึงดูดการลงทุนใน EEC เนื่องจากมีศักยภาพในการขนส่งที่สูงขึ้น ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำ

การพัฒนาระบบรางนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยกลายเป็นฮับโลจิสติกส์ของอาเซียนได้ ด้วยการเร่งส่งเสริมให้เกิดการใช้งานระบบรางในไทยเชื่อมต่อรถไฟลาว-จีนมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งพัฒนาโครงการรถไฟที่เกี่ยวข้องให้เปิดดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพบริการ การพัฒนาระบบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงกับต่างประเทศ

แหล่งข้อมูล: กรุงเทพธุรกิจ

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ