บทความที่เป็นประโยชน์

สนค. เผย "คาร์บอนเครดิต" มูลค่าตลาดพุ่ง ชี้เป็นโอกาสเพิ่มมูลค่าภาคเกษตร-ส่งออก

12 มิถุนายน 2566

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิดังกล่าวนี้สามารถวัดปริมาณและสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้สำหรับภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตโลก ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) มีมูลค่าสูงถึง 1,980 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่ามูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 750,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2573  ขณะที่ความต้องการคาร์บอนเครดิตอาจมีมูลค่าสูงถึง
30,000 - 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะปัจจุบัน การซื้อขายคาร์บอนเครดิต เริ่มเป็นที่นิยมในหลายประเทศ

คาร์บอนเครดิต  กำลังกลายเป็นธุรกิจซื้อขายมลพิษที่มีแนวโน้มทำเงินมหาศาลในอนาคต ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างพันธกิจ Net Zero ( การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ) เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้ประกอบการรายใด ที่ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้
ก็ยังสามารถทดแทนด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ในตลาดโลก

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการติดตามตลาด “คาร์บอนเครดิต” ที่มุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า ประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดกลยุทธ์และมาตรการควบคุมคาร์บอน อาทิ การเก็บภาษีคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นภาษีจากการประกอบกิจการในประเทศ หรือภาษีจากการนำเข้าสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนสูง ส่งผลให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ผ่านกลไก ตลาดคาร์บอน เพื่อให้ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง สามารถซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อชดเชย การปล่อยคาร์บอน เสมือนผู้ซื้อได้ดำเนินการลดจำนวนคาร์บอน

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดคาร์บอนเครดิต เป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจภาคเกษตรไทย เนื่องจากการปลูกพันธุ์ไม้ที่สามารถแปลงเป็นคาร์บอนเครดิต 58 สายพันธุ์ เช่น ต้นสะเดา ต้นนางพญาเสือโคร่ง ต้นนนทรี ต้นปีบ ต้นอินทนิลน้ำ ไม้สัก ต้นประดู่ พะยอม แคนา จามจุรี รวมถึงต้นไม้ที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เช่น ไผ่ และ ไม้ผล เช่น ทุเรียน มะม่วง และมะขาม ซึ่งจัดเป็นผลไม้ส่งออกสำคัญของไทย และผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมทั้งพืชสมุนไพร เช่น มะหาด และมะขามป้อม ที่นอกจากปลูกเพื่อการค้าแล้ว ยังสามารถเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VERs2) สาขาเกษตร (สวนผลไม้) ซึ่งเป็นการสร้างรายได้หลายทาง ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคเกษตร และสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต

นอกจากนี้ ไทยยังจะมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ จะได้เปรียบด้านราคากว่าสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง เพราะปัจจุบันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกฎระเบียบโลกสมัยใหม่ ที่จะถูกนำมาใช้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการแข่งขันทางการค้าเพื่อป้อนสู่ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งไทยต้องบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนในเชิงรุก เตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจปรับตัว ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การขับเคลื่อน BCG โมเดล
การสร้าง News S-Curve ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมภาคการเกษตรในการลดก๊าซเรือนกระจก
การเร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อดักจับคาร์บอน การใช้ประโยชน์และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในเชิงพาณิชย์
การปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ การสร้างมูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี
การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมองค์ความรู้ในการเข้าร่วม

T-VERs ให้แก่ธุรกิจการเกษตรไทยอีกด้วย

--------------------------------------------------------------

ที่มาแหล่งข้อมูล :  https://www.posttoday.com/business/692778

สอบถามบริการ BTL 

02-681-2005ถึง9 

www.bkkterminal.com 

m.me/BangkokTerminalLogistics 

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ