บทความที่เป็นประโยชน์

ส่งออกไทย เตรียมรับมือ มาตรการ ภาษีคาร์บอน หรือ CBAM ยุโรปบังคับใช้ 1 ต.ค 2566

4 ตุลาคม 2566

สหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ซึ่งข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับ EU มีมูลค่า 41,038 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไป EU มูลค่า 22,794 ล้านดอลลาร์ หรือราว 813,000 ล้านบาท สินค้าสำคัญ เช่น คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ รถยนต์ และอุปกรณ์ แอร์ และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณี เครื่องประดับ และไก่แปรรูป ฯลฯ สะท้อนว่าไทยพึ่งพาตลาดยุโรปอย่างมาก เดิมนั้น การส่งออกสินค้าไทยไปสู่ตลาดยุโรป เพียงแค่สินค้ามีคุณภาพก็สามารถส่งออกไปยังตลาดยุโรปได้ แต่ปัจจุบัน “คุณภาพ” อาจไม่เพียงพออีกต่อไป เมื่อที่ประชุมสมาชิกรัฐสภายุโรป (MEPs) บรรลุข้อตกลงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) กล่าวโดยสรุป คือ สหภาพยุโรป (EU) จะบังคับใช้ “ภาษีคาร์บอน” สำหรับสินค้านอกภูมิภาคที่เข้ามา ซึ่งหากมีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จะถูกเก็บภาษีนี้สูงตามไปด้วย หรือถึงขั้นไม่สามารถเข้าสู่ตลาดยุโรป และสิ่งนี้จะกระทบสินค้าไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป สำหรับมาตรการภาษีคาร์บอนหรือที่ทาง EU จะบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป จะเริ่มนำร่องกับสินค้า 6 ประเภทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับสูงก่อน ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน

โดยในปี 2569 - 2570 มาตรการนี้อาจครอบคลุมไปถึงสินค้าเคมีภัณฑ์ และพอลิเมอร์ และภายในปี 2573 อาจบังคับใช้กับสินค้าทุกประเภท จึงสามารถส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยตรงเพราะทุกสินค้าที่ผลิตสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การผลิตเหล็ก การเลี้ยงกุ้ง การปลูกข้าว การทำปศุสัตว์เพื่อผลิตเนื้อสัตว์ ดังนั้นการทำธุรกิจต่อไปนี้จะใส่ใจเฉพาะคุณภาพสินค้าอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องคำนึงถึง “ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม” ร่วมด้วย และผู้ค้าไทยควรรีบเตรียมรับมือ ปรับกระบวนการผลิตให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง เพื่อรักษาอันดับการแข่งขันในตลาดยุโรปต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกรายงานประเมินเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในภาพรวมอุตสาหกรรมเหล็กส่งออกของไทยไปยัง EU จะมีต้นทุนค่า CBAM Certificate เบื้องต้นอย่างน้อยราว 1.5-1.7% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล็กรวมจากไทยไปยัง EU ส่งผลให้ผู้ส่งออกเหล็กไทยไป EU อาจต้องจ่ายค่า CBAM Certificate ที่ราว 1,338-1,545 บาท/ตัน เหล็ก                                                   

เหตุผลที่ยุโรป (EU) เร่งออกกฎ CBAM                                                                                                 

สถานการณ์โลกร้อนในปัจจุบันนับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากพายุ น้ำท่วมที่ถี่ และรุนแรงมากขึ้น ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงผิดปกติ จึงทำให้สหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้ได้อย่างน้อย 55% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 2533 และลดลงเหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 เพื่อทำให้อุณหภูมิโลกไม่สูงเกิน 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ตามที่บรรดาผู้นำโลกตกลงกันไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ยิ่งไปกว่านั้น ภาครัฐในยุโรปได้กำหนดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถปล่อยได้ของแต่ละอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า “เครดิตการปล่อยคาร์บอน” หากเกินกว่าที่กำหนดจะมีค่าปรับสูงมาก

 

เนื่องจากหลายธุรกิจยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันที ภาครัฐจึงเปิดโอกาสให้เกิดตลาดซื้อขายเครดิตการปล่อย (EU Emissions Trading System) หากบริษัทใดจำเป็นต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเครดิตที่มีอยู่ ก็สามารถซื้อเครดิตเพิ่มจากบริษัทอื่นที่ยังเหลือเครดิต หรือจากบริษัทที่ปลูกป่าแทนได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านไปทุกปี เครดิตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ถูกจำกัดให้ลดลงเรื่อยๆ ต้นทุนบริษัทจึงสูงขึ้นตามไปด้วย และทำให้หลายบริษัทแห่ย้ายฐานการผลิตออกจากยุโรป เงินทุนไหลออกจำนวนมหาศาล เพื่อตั้งฐานในประเทศที่ไม่เข้มงวดในเรื่องนี้แทน ช่วยลดต้นทุนสินค้า และสามารถส่งกลับมาขายในตลาดยุโรปด้วยราคาที่ต่ำกว่า สิ่งนี้ทำให้สินค้าที่ผลิตในยุโรป และปฏิบัติตามกฎสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านอกภูมิภาค ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงออกมาตรการ CBAM ขึ้น เพื่อเก็บภาษีคาร์บอน ให้เท่าเทียมกับสินค้าในยุโรป หากสินค้านอกภูมิภาคประเภทใดไม่ถึงระดับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ก็อาจถูกเก็บภาษีสูงหรือถึงขั้นไม่สามารถเข้าตลาดยุโรปได้

การเตรียมรับมือของผู้ส่งออกไทย

            ปัจจุบัน กระแสโลกกำลังไปในทิศทางสีเขียวมากขึ้น หลายประเทศต่างหันมาสนับสนุนพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แผงโซลาร์เซลล์ พลังงานกังหันลม การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ฯลฯ ผู้ส่งออกไทยจึงควรเร่งปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง มีมาตรการกำจัดของเสียที่ได้มาตรฐาน แน่นอนว่า   การปรับปรุงดังกล่าวจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่าย และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่จะช่วยเพิ่มโอกาสสินค้าไทยให้ยังสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ โดยเฉพาะคู่แข่งในเอเชียอย่างญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มีเศรษฐกิจสีเขียวที่ก้าวหน้ากว่าไทย และอาจรุกกินส่วนแบ่งธุรกิจของประเทศ หากบริษัทไทยปรับตัวไม่ทัน

            อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบัน ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เตรียมบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้น โดยจะส่งผลต่อไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” “ดังนั้น ผู้ผลิตสินค้าไทยควรเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าว โดยเร่งปรับกระบวนการผลิต ลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการส่งออก” ไม่เพียงแต่ตลาดยุโรปเท่านั้นที่ออกมาตรการนี้ สหรัฐก็กำลังพิจารณาออกมาตรการลักษณะนี้เช่นกันคือกฎหมาย US Clean Competition Act และอาจเริ่มเก็บค่าภาษีคาร์บอนภายในปี 2569 ปัจจุบัน สหรัฐถือเป็นตลาดใหญ่ของไทยสำหรับการส่งออกอาหารทะเล อาหารกระป๋อง เครื่องปรุงรส ข้าว เสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ

            ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการไทยปรับธุรกิจของตนให้สอดคล้องกับเทรนด์สีเขียว จะช่วยรองรับกระแสอนาคตนี้ และรักษาศักยภาพการแข่งขันไทยในเวทีนานาชาติได้ และยิ่งไปกว่านั้น การออกกฎเกี่ยวกับภาษีคาร์บอนของตลาดต่างประเทศ ยังเป็น “โอกาสใหม่ของธุรกิจสีเขียว” เช่น หลอดกระดาษ กล่องชานอ้อยแทนโฟม น้ำยาล้างจานที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เนื้อสัตว์จากพืชและแมลงทอด ที่ลดก๊าซเรือนกระจกแทนการทำปศุสัตว์แบบเดิม ที่ไทยสามารถส่งขายสู่ตลาดยุโรปและสหรัฐได้อีกด้วย

 

ที่มาแหล่งข้อมูล :

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1090247

--------------------------

ติดต่อสอบถามบริการ BTL

02-681-2005ถึง9

www.bkkterminal.com

m.me/BangkokTerminalLogistics

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ