บทความที่เป็นประโยชน์

ส่งออกผลไม้ไทยมาแรง ... ฝ่า COVID-19

31 พฤษภาคม 2565

ส่งออกผลไม้ไทยมาแรง ... ฝ่า COVID-19

              สินค้าส่งออกในปี 65  ผลไม้ถือว่ามีบทบาทสำคัญในหมวดสินค้าเกษตรส่งออกของไทย เห็นได้จากปี 2564 แม้การส่งออกข้าวไทยเริ่มชะลอตัว แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรรวมกลับไม่ลดตาม เพราะได้อานิสงส์จากการส่งออกผลไม้ ที่มีมูลค่ามากถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์ (6 เท่าของการส่งออกผลไม้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา) และครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าเกษตรส่งออกสูงที่สุดถึงร้อยละ 29 %  ทำให้คาดว่าการส่งออกผลไม้ไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้นตามความนิยมต่อเนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก เพราะระยะเวลาขนส่งผลไม้ที่รวดเร็ว จึงคงความสดใหม่และค่าขนส่งที่ไม่สูงนัก

              ผลไม้ส่งออกที่สำคัญคือ ทุเรียน “ราชาแห่งผลไม้” โดยปี 2564 มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 68   รองลงมาได้แก่ ลำไย และมังคุด ที่ได้รับความนิยมสูงต่อเนื่องในต่างประเทศเช่นกัน แต่มีอัตราการ ขยายตัวค่อนข้างคงที่ ซึ่งผลไม้ส่งออกทั้งสามชนิดนี้กินส่วนแบ่งการส่งออกผลไม้สูงถึงร้อยละ 84  มีตลาดสำคัญ อาทิ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม

              จากความกังวลของสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 และการติดเชื้อยังมีมาต่อเนื่อง      แต่การส่งออกผลไม้ไทยยังสามารถขยายตัวได้ดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะจีนที่อยู่ในระดับสูงทั้งทุเรียน ลำไย และมังคุด

              นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้ามาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 และการแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ครั้งที่ 2/2565 ว่าที่ประชุมเห็นชอบตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาการส่งออกสินค้าผลไม้ไปจีน ซึ่งมีอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นประธานและมีตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ส่งออก ล้ง เกษตรกรและสมาคมโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องร่วมกันเป็นคณะทำงาน เพื่อติดตามสถานการณ์ได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ 

              โดยการส่งออกผลไม้สดไปจีนถือว่าเป็นตลาดใหญ่ถึง 90% ของไทย และในปี 2565 นี้ ไทยมีเป้าหมายส่งออกให้ได้ 530,000 ตัน  โดยตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการส่งออกผลไม้ผ่านช่องทางสำคัญเพิ่ม 3 ช่องทางหลัก คือ ทางเรือ 83% ทางอากาศ 6.5% และทางบก 10.5%  การขนส่งทางบกไปจีน ผ่าน 4 ด่านหลัก คือ โมฮาน โหย่วอี้กวาน ตงซิง และผิงเสียง  มีประเด็นเรื่องด่านจีนเปิด-ปิด เพราะสถานการณ์โควิด และนโยบาย Zero-COVID ของจีน  จึงมีการปรับแผนเป็นส่งทางเรือมากขึ้น เพื่อให้แผนส่งผลไม้สดไปจีนครบทั้ง 530,000 ตันตามเป้า

              ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ผลผลิตผลไม้ปี 2565 คาดการณ์ผลผลิตรวม 5.36 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 11% และผลไม้ไทยส่งออกไปยังทั่วโลกตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. 2565 มีปริมาณ 754,027 ตัน คิดเป็นมูลค่า 33,983.90 ล้านบาท แบ่งเป็นผลไม้สด 225,159 ตัน ผลไม้แปรรูปและกระป๋อง 213,578 ตัน ผลไม้แห้ง 180,254 ตัน ผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง 9,620 ตัน

แม้ว่าการส่งออกจะขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ส่งออกไทย รวมถึงเกษตรไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่หลายประการ  เช่น

1) การกระจุกตัวของตลาดส่งออก : ที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก  ซึ่งอาจมีความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้าของจีนที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการส่งออกของไทย ที่มีความเข้มงวด อาจจะทำให้ต้นทุนการขนส่งของผู้ส่งออกไทยเพิ่มสูงขึ้น  นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในอนาคตที่ผู้บริโภคชาวจีน  อาจหันไปซื้อผลไม้ที่มีรสชาติแปลกใหม่จากผู้ผลิตประเทศอื่นมากขึ้น   หากผู้ประกอบการไทยหันมาแปรรูปผลไม้มากขึ้น เพื่อนำเสนอรสชาติที่แปลกใหม่ก็น่าจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดส่งออกผลไม้ได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง

2) รายได้ของเกษตรกรไทย : นอกจากนวัตกรรมทางการผลิตแล้ว นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงินที่จับคู่ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายให้มาพบกันบนโลกออนไลน์ ก็มีความสำคัญต่อการปรับตัวของเกษตรกรไทย ดังนั้นการปลูกถ่ายองค์ความรู้และวิธีการใหม่ๆ อาทิ การทำช่องทางการขายแบบ E-commerce  ถือเป็นอีกช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย

3) การบริหารจัดการโซนนิ่ง (Zoning) และปริมาณผลผลิตทุเรียนในอนาคต เพื่อลดการกระจุกตัวช่วงออกสู่ตลาด : ในช่วงที่การส่งออกผลไม้มีความร้อนแรง จูงใจให้เกษตรหันมาปลูกผลไม้อย่างทุเรียนเพิ่มมากขึ้น หากผลผลิตทั้งหมดออกสู่ตลาดจำนวนมาก โดยมิได้ขยายตลาดการส่งออกไปพร้อมๆ กัน ผลผลิตที่มีมากกว่าความต้องการของตลาดจะส่งแรงกดดันต่อราคาสินค้าให้ลดลง จนส่งผลกระทบต่อไปถึงมูลค่าการส่งออก

              อย่างไรก็ตาม แม้ความต้องการสินค้าในช่วงโควิด-19 ยังคงสูง แต่ผู้ส่งออกก็เผชิญกับข้อจำกัดด้านกระบวนการส่งออกหลายประการ เช่น มาตรการขนส่งระหว่างประเทศ ข้อจำกัดเรื่องการปิดช่องทางการขนส่งในบางจุด การควบคุมสินค้าปลอดเชื้อ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบไทยมีการปรับตัวและสามารถรับมือกับสถานการณ์ในช่วงที่เกิดโรคระบาดได้ดี

แหล่งข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ และ ประชาชาติธุรกิจ

----------------------------

ติดต่อสอบถามบริการ BTL

02-681-2005ถึง9

www.bkkterminal.com

m.me/BangkokTerminalLogistics

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ