บทความที่เป็นประโยชน์

กรมรางถกแนวทางเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางสู่ท่าเรือแหลมฉบัง ตั้งเป้า 30%

8 ธันวาคม 2566

กรมรางร่วมถกเอกชนและสภาอุตสาหกรรมหาแนวทางเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรถไฟสู่ท่าเรือแหลมฉบัง
เป็น 30% จาก 5.4% ในปัจจุบัน เร่งแก้คอขวดในพื้นที่ SRTO รฟท.จัดหาแคร่ตู้สินค้าเพิ่ม คาดอนาคตขนส่ง
ทางรางเพิ่มได้ถึง 2 ล้านทีอียูต่อปี แก้รถติดและลดต้นทุนโลจิสติกส์

เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และเจ้าหน้าที่ ขร.
ได้เข้าร่วมการประชุมระดมสมอง เรื่อง “แนวทางการส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟในท่าเรือแหลมฉบัง”
ณ สำนักงานโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operator : SRTO)
ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ ขร.ร่วมผลักดันแนวทางส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟ พร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจราจรภายในแหลมฉบัง โดยขับเคลื่อนเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรถไฟสู่ท่าเรือแหลมฉบังเป็น 30% ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามกรอบนโยบายคมนาคม “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่ต้องการสร้างความสุขให้ประชาชนในทุกมิติ
ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ มิติด้านความปลอดภัย มิติด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และมิติด้านการอนุรักษ์
สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันสัดส่วนการขนส่งทางรถไฟเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) มีปริมาณ 472,000 ทีอียู (TEU)
คิดเป็น 5.4% โดยเป็นการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากเส้นทาง ICD ลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบัง 88% และขนส่งทางรางจากเส้นทางสายนอกทั้งรถไฟจากอีสานใต้ สายเหนือ และสายใต้ ประมาณ 12% ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าในอนาคตการขนส่งในเส้นทางรางจะมีปริมาณสูงได้ถึง 2 ล้าน TEU ต่อปี โดยจะเป็นการขนส่งจาก ICD ลาดกระบังประมาณ 7 แสน TEU ต่อปี (35%) และจากเส้นทางสายนอก 1.3 ล้าน TEU ต่อปี (65%) ขณะที่การเปรียบเทียบสัดส่วนการขนส่งสินค้าในเส้นทางระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง - ICD ลาดกระบัง การขนส่งทางรางจะมีสัดส่วนสูงสุดที่ 20-30% โดยมีการขนส่งสินค้าทางถนนผ่านรถบรรทุกเฉลี่ย 9.3 แสนทีอียูต่อปี ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่ขับเคลื่อนให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากทางถนนมาสู่ทางรางเพิ่มขึ้น หากมีการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าทางราง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ลดต้นทุนการขนส่ง ลดปริมาณการจราจร
บนถนน และลดมลพิษทางอากาศจากรถบรรทุก ซึ่งส่งผลให้ศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของประเทศเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความเห็นร่วมกันตามแนวทางการส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟในท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางราง โดยเร่งรัดการแก้ไขปัญหาคอขวดของการขนส่งสินค้าทางรางภายในพื้นที่ SRTO พร้อมเสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แก้ไขข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2549 ของ รฟท. ให้สามารถเดินรถได้หลายขบวนใน 1 ตอน ภายในพื้นที่ โดยยังคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ เพื่อลดเวลาการรอคอยการเดินรถ อีกทั้ง รฟท.เร่งรัดการจัดหาหัวรถจักรและแคร่บรรทุกตู้สินค้าให้เพียงพอโดยเร็ว และมีแผนการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยส่งเสริมการให้เอกชนร่วมให้บริการเดินรถขนส่งสินค้าทางราง พร้อมดำเนินการด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง การเพิ่มประสิทธิภาพของอุโมงค์ X-ray ตลอดจนกระบวนการตรวจปล่อยสินค้า พร้อมการปรับปรุงลงทุนระบบอาณัติสัญญาณให้อำนวยความสะดวกในการเดินรถไฟเข้าได้ทั้ง SRTO
และท่าเทียบเรือ C พร้อมรองรับการขนส่งในท่าเทียบเรือระยะ 3 ตามแผนการ

เปิดให้บริการในอนาคต กรมการขนส่งทางรางมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมยกระดับมาตรฐานการขนส่งสินค้าเพื่อรองรับการนำเข้า-ส่งออก ของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

 

ที่มาแหล่งข้อมูล :  MGR ONLINE

https://mgronline.com/business/detail/9660000104427  

02-681-2005ถึง9 

www.bkkterminal.com 

m.me/BangkokTerminalLogistics 

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ