บทความที่เป็นประโยชน์

ขนส่งสินค้ารถไฟ จีน-ลาว เพิ่มขึ้น 95%

1 กุมภาพันธ์ 2567

ขนส่งสินค้ารถไฟ " จีน-ลาว " เพิ่มขึ้น 95% กรมรางเร่งผลักดันขนส่งสินค้า   
ข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อ เล็งฟื้นเส้นทางรถไฟ " ไทย-มาเลเซีย "

โครงการรถไฟจีน-ลาว เป็นโครงการสําคัญที่เชื่อมนครคุนหมิงของจีน กับนครหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว เริ่มดําเนินการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เป็นโครงการเรือธงของโครงการข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" หรือ BRI ของจีน กับยุทธศาสตร์ของ สปป.ลาว เพื่อเปลี่ยนประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลไปสู่ประเทศศูนย์กลางการคมนาคมทางบก เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ทำให้การขนส่งสินค้าสะดวกมากขึ้น เช่น แร่เหล็ก มันสำปะหลัง ยางพารา ที่มีการนำเข้าสู่ประเทศจีนเป็นครั้งแรก และยังถูกส่งไปยังประเทศในยุโรปและเอเชียกลาง โดยรถไฟขนส่งสินค้าจีน- ยุโรป นอกจากนี้จีนยังส่งออกสินค้าเครื่องกลไฟฟ้า และสินค้าไฮเทคต่าง ๆ มายังประเทศอาเซียน

เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เป็นโครงข่ายการขนส่งขนาดใหญ่ครอบคลุมเมืองต่าง ๆ กว่า 30 เมือง ในพื้นที่ทะเลปั่วไห่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีทางตะวันออกของจีน และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลทางตอนใต้ของจีน นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อเครือข่ายการขนส่งของ 12 ประเทศ บนเส้นทางโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เช่น สปป.ลาวและไทย ช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างจีนและประเทศในอาเซียน เส้นทางรถไฟจีน-ลาว มีระยะทาง 1,035 กิโลเมตร รถไฟวิ่งได้ด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
มีทั้งรถไฟโดยสารและขนส่งสินค้า โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟคุนหมิง-สิงคโปร์ ซึ่งเชื่อมนครคุนหมิงกับสิงคโปร์ ผ่าน สปป.ลาว ไทย และมาเลเซีย

ล่าสุด กรมรางร่วมประชุมรถไฟ "ไทย-มาเลเซีย"(RJWC) หาทางเพิ่มความสะดวกขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อ ผลักดันกลับมาเปิดเดินรถไฟเส้นทางสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง อีกครั้งหลังปิดมากว่า 20 ปี และความเป็นไปได้เชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)
และนาย MOHD SHAHRIMAN BIN SHAFEIN อธิบดีกรมรถไฟ สหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นประธานร่วมการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย (Thailand and Malaysia Railway Joint Working Committee: RJWC) ครั้งที่ 2 เพื่อผลักดันการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย พร้อมด้วยนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน)
และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าร่วม

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ในที่ประชุมทั้งสองฝ่ายได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซียที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าจะร่วมมือกันเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ตามที่มีการพบกันระหว่างผู้นำสองประเทศระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย และ ดาโต๊ะ ซรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน ปี 2566 ที่ผ่านมา ที่ได้ยืนยันถึงความสำคัญของการพัฒนาชายแดนร่วมกัน และเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
และส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นระหว่างไทยกับมาเลเซีย สำหรับประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซียในประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. การเดินรถไฟข้ามพรมแดนอย่างไร้รอยต่อ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางรางผ่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ในประเด็นด้านมาตรฐาน ทั้งกฎระเบียบและการขนส่งข้ามพรมแดนที่ไร้รอยต่อ ได้แก่ การปรับปรุงแก้ไขสัญญาระหว่างรัฐบาลสหรัฐมลายูกับรัฐบาลสยาม เพื่อความสะดวกในการเดินรถไฟ ระหว่างพระราชอาณาจักรสยาม กับกลันตัน ไทรบุรี เปอร์ลิศ และสหรัฐมลายู ปี 2465 โดยมุ่งเน้นการลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง รวมทั้งการประสานงานด้านพิธีการศุลกากร
และตรวจคนเข้าเมือง ด้านความปลอดภัยและความมั่นคงในการเดินรถไฟข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่จังหวัดนราธิวาส อำเภอตากใบ และความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสุไหงโก-ลก-
ปาเสมัส เข้ากับเส้นทางรถไฟเชื่อมชายฝั่งทะเลตะวันออก (East Coast Rail Link: ECRL) ของมาเลเซีย ซึ่งฝ่ายไทยมีความพร้อมในการกลับมาเปิดเดินรถในเส้นทางสุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง ซึ่งเคยเป็นเส้นทางรถไฟที่ใช้บริการขนส่งมวลชนและสินค้าในอดีตและได้หยุดให้บริการมากว่า 20 ปี เนื่องจากประเด็นความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและปัญหาการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย รฟท.ได้ทำการปรับปรุงสะพานทางรถไฟที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย สุดทางรถไฟสายใต้ที่สุไหงโก-ลกแล้ว และฝ่ายไทยได้นำเสนอข้อมูลสถานะความคืบหน้าการพัฒนารถไฟทางคู่สายใต้ของไทยให้ฝ่ายมาเลเซียได้รับทราบ

นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางวิชาการด้านระบบราง เช่น การแลกเปลี่ยนฝึกอบรมบุคลากรด้านระบบราง ตลอดจนการทบทวนและแก้ไขความตกลงเดินรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย พ.ศ. 2497
(ค.ศ. 1954) เพื่อให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

2. การเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานทางราง โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงระหว่างไทย-มาเลเซีย การประชุมครั้งถัดไปมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2567 โดยฝ่ายมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 3 เพื่อติดตามประเด็นที่ต้องการผลักดันร่วมกันในระยะถัดไป

 

ที่มาแหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ
https://mgronline.com/business/detail/9670000005097
https://www.nationtv.tv/foreign/378938549

--------------------------

ติดต่อสอบถามบริการ BTL

02-681-2005ถึง9

www.bkkterminal.com

m.me/BangkokTerminalLogistics

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ