บทความที่เป็นประโยชน์

สะพานข้ามแม่นํ้าโขง 5  (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)  เติมโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง

22 ตุลาคม 2564

สะพานข้ามแม่นํ้าโขง 5  (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)  เติมโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง

              นายบุญเพ็ง ลามคำ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผยถึงการรายงานความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ว่า ในภาพรวมมีความก้าวหน้าประมาณ 20 % คาดจะแล้วเสร็จในปี 2566

              ประธานหอการค้าบึงกาฬชี้ว่า สะพานข้ามนํ้าโขงแห่งที่ 5 นี้ เป็นสะพานข้ามนํ้าโขงที่สำคัญอีกแห่ง ที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมภาคอีสานของไทย กับภาคกลางของสปป.ลาว ที่ข้ามไปสิ้นสุดฝั่งทะเลจีนใต้ที่ท่าเรือนํ้าลึกหวุงอ๋างในภาคกลางของเวียดนาม และจากจุดนี้สามารถไปสู่ภูมิภาคส่วนต่างๆ ของโลก ทั้งเอเชีย ยุโรป อาทิจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย รวมถึงเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินเรือสายไหมใหม่ของจีน ไปยังยุโรปผ่านรัสเซียได้อีกเส้นทางหนึ่ง นอกจากเส้นทางผ่านมหาสมุทรอินเดีย หรือมหาสมุทรแปซิฟิก

              กล่าวได้ว่าหากการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน จะทำให้บึงกาฬเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล การค้าชายแดนไทย-ลาว ด้าน บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ จะขยายตัว และเพิ่มไปอยู่ที่กว่า 10,000 ล้านบาทแน่นอน  จากมูลค่าการค้าเดิมก่อนการระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมาผลกระทบเชื้อโควิด-19 ทำให้มูลค่าการค้าชายแดน บึงกาฬ-บอลิคำไซเหลือเพียง 2,900 ล้านบาทเศษเท่านั้น   

              นอกจากโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) แล้ว  จังหวัดบึงกาฬเตรียมความพร้อมในพื้นที่รองรับ โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างต่างๆ อาทิสนามบินบึงกาฬ  โครงการก่อสร้างทางหลวงมาตรฐานสายใหม่ บึงกาฬ- อุดรธานี (อ.กุมภวาปี) ระยะทางประมาณ 159 กิโลเมตร  รวมทั้งการก่อสร้างคลองส่งนํ้าคู่ขนานไปกับแนวถนนสายนี้ในคราวเดียว เพื่อผันนํ้าโขงไปลงอ่างหนองหาน (ฝายกุมภวาปี)  และส่งต่อไปลงเขื่อนอุบลรัตน์ อ.นํ้าพอง จ.ขอนแก่น เติมโครงข่ายชลประทานในภาคอีสานให้มั่นคงยิ่งขึ้นอีกด้วย

              นายบุญเพ็งฯ กล่าวเพิ่มเติม  “ ที่สำคัญต้นเดือนธันวาคม 2564 นี้ รถไฟจีน-ลาว จะเปิดการเดินรถอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ทั้งจากนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมากับขบวนรถไฟ  ยังมีนักลงทุนจากจีนส่วนหนึ่งจะเดินทางเข้ามาสู่ภาคอีสาน และพื้นที่บึงกาฬเพื่อดูธุรกิจยางพาราหรือเพื่อการมองหาทางลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพราะปัจจุบันนี้ที่บึงกาฬ ก็มีธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราซึ่งแทบทั้งหมดเป็นของนายทุนจีนทั้งสิ้น”

              เรียกว่าเป็นการเติมโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมโยงภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง  ที่ทำให้การส่งออกนำเข้าสินค้ามีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น สามารถขนถ่ายได้มากกว่าทางเรือขนานยนต์ที่ใช้กันอยู่  ปลอดภัย ประหยัดต้นทุน และเกิดการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม จีน และชาติอื่นๆ ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ