บทความที่เป็นประโยชน์

เม.ย. 2565  การส่งออกไทย ขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่ากว่า 23,521 ล้านเหรียญสหรัฐ

13 มิถุนายน 2565

เม.ย. 2565  การส่งออกไทย ขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่ากว่า 23,521 ล้านเหรียญสหรัฐ

              นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2565 ขยายตัว 9.9%  มีมูลค่า 23,521 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 14 เดือน  ในส่วนการนำเข้า ขยายตัว 21.5% มีมูลค่า 25,429 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,908 ล้านเหรียญสหรัฐ  การส่งออกที่ขยายตัวเป็นผลมาจากสินค้าสำคัญ 3 หมวด ที่มีการเติบโต คือ สินค้าการเกษตร สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรม

              ทั้งนี้  การส่งออก 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2565) ขยายตัว 13.7% มีมูลค่า 97,122 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงสุด ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 19.2% มีมูลค่า 99,975 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 2,852 ล้านเหรียญสหรัฐ

สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม  ขยายตัว 10.8% มูลค่า 4,443 ล้านเหรียญสหรัฐ  เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว เงาะสด มังคุดสด และมะม่วงสด พร้อมกันนี้ จะเร่งผลักดันการส่งออกข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทั้งข้าวนึ่ง ปลายข้าว ข้าวขาว ข้าวเหนียว และแนวโน้มการส่งข้าวปีนี้คิดว่าจะเกินเป้าที่กำหนดไว้ โดยมีแนวโน้มจะส่งออกได้ 7-8 ล้านตัน

สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 8.3% มูลค่า 17,962 ล้านเหรียญสหรัฐ  เช่น ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า

ปัจจัยที่เป็นบวกสำหรับการส่งออกในเดือนเมษายนขยายตัว และในอนาคตมีหลายปัจจัย เช่น

  • การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกข้าวโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทูตพาณิชย์ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้หันมาใช้ข้าวหอมมะลิมากขึ้น และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับเครื่องหมาย GI ของสหภาพยุโรปกลายเป็นจุดขายสำคัญ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเร่งรัดการเจรจาส่งออกข้าวเป็นกำลังเสริมสำคัญหนุนการส่งออก
  • การขยายความร่วมมือกับตลาดใหม่ เช่น ภูฏานมุ่งเน้นสมุนไพรไทยและยาแผนโบราณ การลงนาม Mini-FTA เช่น กับอินเดีย รัฐเตลังคานา กับจีนมณฑลไห่หนานและกานซู่ มีผลในการกระตุ้นการส่งออกในอนาคตได้ การประชุม JTC ไทย-เวียดนาม

แนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกระยะถัดไป

การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าต้องการรักษาความมั่นคงทางอาหาร สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากสินค้าขั้นกลาง เช่น เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ สินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ) นอกจากนี้ สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกไทยอาจยังได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบพื้นฐานที่ใช้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์อยู่บ้างในช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับตลาดส่งออก คาดว่าบางตลาดจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน เช่น การส่งออกไปตลาดอาเซียนมีทิศทางดีขึ้น หลังเริ่มทยอยเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ปกติ

กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการเชิงรุกในการส่งเสริมการส่งออก  เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวกด้านการส่งออกของผู้ประกอบการไทย ได้แก่

  • ปลดล็อกอุปสรรคการส่งออกสินค้าผลไม้ไปจีน ส่งเสริมให้เปลี่ยนไปขนส่งสินค้าทางเรือมากขึ้น เพื่อลดความแออัดของด่านพรมแดนทางบก ขณะเดียวกันกระทรวงฯ มอบหมายให้ทูตพาณิชย์เร่งเจรจากับทางการจีนให้อำนวยความสะดวกการขนส่งทางบกให้เป็นไปอย่างคล่องตัว
  • ฟื้นฟูตลาดซาอุดีอาระเบีย นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน SAUDI FOOD EXPO พร้อมสร้างการเจรจาจับคู่ธุรกิจ อีกทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในซาอุดีอาระเบีย เช่น ข้าว อาหารฮาลาล ผลไม้
  • ส่งเสริมการค้าที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบททางการค้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการค้ากับสหภาพยุโรป
  • เร่งรัดการเจรจาจัดทำ FTA และ Mini-FTA เพื่อเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทย และกระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้าทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

 

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ