บทความที่เป็นประโยชน์

รัฐ & เอกชน ขานรับนโยบาย รถบรรทุกยุคใหม่ ใช้พลังงานสะอาด

27 ตุลาคม 2565

รัฐ & เอกชน ขานรับนโยบาย รถบรรทุกยุคใหม่ ใช้พลังงานสะอาด

หากอ้างอิงตาม ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ในยุทธศาสตร์ที่ 4 ได้กำหนดให้มีการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการจัดการที่มีประสิทธิภาพ (Innovation & Management) โดยการขนส่งสินค้าทางบก ถือเป็นการขนส่งหลักของประเทศในปัจจุบันนี้ และพระเอกที่ทำหน้าที่ขนส่งสินค้าจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก รถบรรทุก ที่ในปัจจุบันก็เป็นที่น่ายินดีว่าผู้ประกอบการต่าง ๆ ต่างขานรับยุทธศาสตร์ข้างต้นนี้ พร้อมพัฒนา รถบรรทุกยุคใหม่ ที่ใช้พลังงานสะอาดมาใช้แทน รถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาปแบบเดิมกันแล้ว

 โดยในส่วนของทางภาครัฐ กระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ทำการศึกษาแนวทางและรูปแบบการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนา รถบรรทุกยุคใหม่ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านความปลอดภัย ด้านการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือในด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเพิ่ม ทางเลือกใหม่ ให้กับผู้ประกอบการรถบรรทุกทั่วประเทศได้นำไปพิจารณาเพื่อพัฒนารถบรรทุกของตนเอง ซึ่งเทคโนโลยีรถบรรทุกที่น่าสนใจ มีดังนี้

เทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle

เทคโนโลยีนี้มีด้วยกันหลายประเภท เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมหรือไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle) ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมแบบเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle) และยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle) เป็นต้น

เทคโนโลยีดักจับมลพิษ

ระบบนี้ เป็นการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ก่อนที่จะปล่อยออกมาจากท่อไอเสียของรถบรรทุก และเปลี่ยนให้กลายมาเป็นของเหลวเก็บไว้ในถังบนหลังคารถ ซึ่งของเหลวคาร์บอนไดออกไซด์นี้ สามารถนำมาจัดส่งให้กับปั๊มน้ำมัน เพื่อนำกลับไปใช้งานซ้ำ (Reuse) ใหม่ได้ รวมไปถึงการนำไปเปลี่ยนให้กลายเป็นเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมได้ด้วย

การใช้พลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ

เช่น น้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งผลิตได้จากไขมันสัตว์ สาหร่ายขนาดเล็ก และน้ำมันจากพืช ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้เองตามกระบวนการชีวภาพในธรรมชาติเทคโนโลยีเหล่านี้ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งแล้ว ยังช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5

นอกจากด้านเทคโนโลยีการขนส่งแล้ว ในด้านการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ก็ยังมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอีกมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

เทคโนโลยี Fleet Management Software

ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการและติดตามรถบรรทุก ทำหน้าที่รวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยให้เจ้าของรถและผู้ดูแลระบบสามารถประเมินการทำงานของคนขับรถ การจัดการสินค้า ไปจนถึงการจัดเส้นทางเดินรถที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิง และลดการสูญเสียเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เทคโนโลยี GPS Fleet Tracking

ช่วยติดตามเส้นทางเดินรถบรรทุกระหว่างการขนส่ง ทำให้ทราบตำแหน่งที่ตั้งของรถบรรทุกในแต่ละช่วงเวลา เวลาที่ออกจากจุดต้นทาง ระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่ง เวลาที่ถึงจุดปลายทาง ระยะเวลาที่จอดพัก เส้นทางที่ใช้ในการขนส่ง ไปจนถึงความเร็วที่ใช้ในการขนส่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการกำกับควบคุมการขนส่งให้ดียิ่งขึ้น

โดยขอยกตัวอย่างของภาคเอกชน ที่ได้ปรับเปลี่ยน นำเอานวัตกรรม รถบรรทุกยุคใหม่ มาปรับใช้

ไทวัสดุ   ได้ริเริ่มแนวคิดการนำรถบรรทุกพลังงานสะอาด EV Truck ขนส่งสินค้าจากคลังเพื่อกระจายไปยังสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ  จำนวน 21 สาขา ในอนาคตตั้งเป้าจะวิ่งครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเพิ่มจำนวนรถ EV Truck กว่าอีก 30 คัน ภายในปี 2566   ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ให้เห็นข้อดีของรถบรรทุกพลังงานสะอาด เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังตัดสินใจ ดังนี้

หนึ่ง : การลงทุนที่คุ้มค่ามาก เนื่องจากรถบรรทุกพลังงานสะอาด EV Truck ชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง สามารถวิ่งได้ระยะทางถึง 400 กิโลเมตร คิดเป็นมูลค่า 3 บาท ต่อ 1 กิโลเมตร สามารถลดค่าใช้จ่ายการใช้พลังงานจากเดิมใช้พลังงานดีเซลได้ถึง 50%

สอง : รถบรรทุกพลังงานสะอาด EV Truck ช่วยลดต้นทุนให้องค์กรได้ เนื่องจากใช้ระบบไฟฟ้า ไม่มีของเหลว เพียงดูแลเช็คสภาพสายไฟ มอเตอร์ แบตเตอรี่ ยาง เป็นหลักเท่านั้น และมีการเช็คระยะบำรุงรักษาทุกๆ 10,000 กิโลเมตร

สาม : การใช้ EV Truck รถบรรทุกพลังงานสะอาด ช่วยลดมลพิษทางอากาศอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนลงได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 200 ต้นต่อปี นอกจากนี้ การเดินรถยังเงียบ ช่วยลดมลภาวะทางเสียงบนท้องถนน แต่ยังคำนึงถึงความปลอดภัย ด้วยมีเซนเซอร์รอบคัน ส่งเสียงเตือนรถเล็กว่ารถขับเคลื่อนอยู่

โดย สนข. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ จะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการได้นำไปพัฒนารถบรรทุกของตนเอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ และที่สำคัญ คือ ช่วยลดปัญหามลพิษต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม 

ที่มา    :  www.salika.co   

----------------------------

ติดต่อสอบถามบริการ BTL

02-681-2005ถึง9

www.bkkterminal.com

m.me/BangkokTerminalLogistics

<< กลับไปหน้าบทความ

บทความอื่นๆ